การปฏิรูปกองทัพไทย: แนวทางการสร้างระบบทหารอาชีพกับการลดบทบาทกองทัพภายใต้การควบคุมของรัฐบาลพลเรือน
Main Article Content
บทคัดย่อ
บทความวิชาการนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาหาแนวทางการสร้างระบบทหารอาชีพโดยสมบูรณ์ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลพลเรือนในประเทศไทย ซึ่งได้ทำการศึกษาค้นคว้ารวบรวมแนวคิดเกี่ยวกับการสร้างระบบทหารอาชีพจากหนังสือ เอกสาร งานวิจัย บทความวิชาการ บทวิเคราะห์ บทวิจารณ์ รวมถึงข่าวสารจากสื่อต่าง ๆ โดยนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์เป็นผลการศึกษาและจัดทำเป็นบทสรุปต่อไป ผลการศึกษา พบว่า การสร้างระบบทหารอาชีพโดยสมบูรณ์ภายใต้ความสมัครใจของพลเรือนในการเข้ารับราชการทหารเป็นส่วนหนึ่งของการลดบทบาทกองทัพให้อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลพลเรือน ซึ่งต้องมีการแบ่งแยกภารกิจหลักของพลเรือนออกจากกองทัพอย่างเป็นเอกเทศ โดยการควบคุมด้วยกลไกระบบสายบังคับบัญชาภายใต้เงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญผ่านการกำหนดบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับอำนาจการบัญชาการระหว่างรัฐบาลพลเรือนและกองทัพอย่างเข้มงวด เพื่อเป็นการป้องกันการแทรกแซงทางการเมืองของผู้มีส่วนได้เสียทั้งมวล อีกทั้งยังเป็นการลดอิทธิพลของทหารลงอีกทางหนึ่งด้วย ส่งผลทำให้กองทัพไม่สามารถหาโอกาสและช่องทางสำหรับก่อการรัฐประหารได้สำเร็จอย่างที่เคยปรากฏผ่านมาในอดีต ทั้งนี้ การสร้างระบบทหารอาชีพอันจะนำไปสู่การลดบทบาทกองทัพภายใต้การควบคุมของรัฐบาลพลเรือน มีความจำเป็นต้องอาศัยปัจจัยเกื้อหนุนต่าง ๆ โดยสรุปออกมาได้ 4 แนวทาง ดังนี้
แนวทางแรก การแก้ไขรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการเกณฑ์ทหาร โดยควรมีการแก้ไขบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 50 อนุมาตรา 5 ซึ่งมีข้อความที่มุ่งหมายบังคับให้บุคคลเข้ารับใช้ชาติโดยไม่สมัครใจ ถือเป็นการลิดรอนสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของปวงชนชาวไทยตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและควรมีการยกเลิกพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการเกณฑ์ทหารทุกกรณีอันจะนำไปสู่การสร้างระบบทหารอาชีพโดยสมบูรณ์ในประเทศไทยได้
แนวทางที่สอง การสร้างฐานอำนาจถ่วงดุลภายในกองทัพโดยการเคลื่อนย้ายกำลังพลออกจากพื้นที่ศูนย์กลางอำนาจการปกครองกระจายไปยังส่วนภูมิภาค ถือเป็นการป้องปรามการรัฐประหารในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพและยังทำให้หน่วยกำลังพลส่วนภูมิภาคเกิดการแข่งขันระหว่างกันทางด้านการเตรียมความพร้อมของกำลังพลภายใต้การบังคับบัญชาของตน อีกทั้งยังเอื้อต่อการสร้างระบบทหารอาชีพอย่างสมบูรณ์โดยปราศจากการเกณฑ์ทหารเข้ากองประจำการอีกด้วย
แนวทางที่สาม การสร้างวัฒนธรรมการเมืองภาคพลเรือนเหนืออิทธิพลของกองทัพ ซึ่งฝ่ายการเมืองและกองทัพต้องร่วมมือกันสร้างกฎเกณฑ์ที่เป็นค่านิยมใหม่ทางการปกครองขึ้นมา รวมทั้งต้องมีการระบุไว้อย่างชัดแจ้งภายในรัฐธรรมนูญ เพื่อทำให้เกิดการควบคุมกองทัพตามสายบังคับบัญชาที่เข้มงวดเพิ่มมากขึ้นภายใต้แนวทางการส่งเสริมการยอมรับวัฒนธรรมการเมืองภาคพลเรือนเหนือนำกองทัพอย่างมีบูรณภาพจากทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปกองทัพไทย
แนวทางที่สี่ การลดบทบาททางการเมืองของนายทหารระดับสูงชั้นนายพลที่เกษียณอายุราชการในกองทัพ โดยปัจจัยหนึ่งที่กลายเป็นแรงผลักดันสำคัญในการเข้ายึดอำนาจของคณะรัฐประหารในประเทศไทยส่วนใหญ่มาจากการได้รับแรงหนุนหลังภายใต้เงาลายพรางของรุ่นพี่โรงเรียนนายร้อยทหาร ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งชั้นนายพลในกองทัพแม้ว่าจะเกษียณอายุราชการไปแล้วก็ตาม ถึงกระนั้น อำนาจและอิทธิพลที่ตนเคยมีกลับไม่ได้ยุติลงไปด้วย แต่ทว่ายังสามารถสร้างฐานบารมีและบทบาททางการเมืองของตนได้อย่างต่อเนื่อง จากการเข้ามาดำรงตำแหน่งระดับสูงในรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ นอกจากนี้ ในกรณีล่าสุดยังปรากฏบทบาทในรัฐสภาผ่านการคัดเลือกเข้าไปเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป ในปี พ.ศ. 2562 ทำให้การสร้างระบบทหารอาชีพโดยสมบูรณ์และการควบคุมกองทัพภายใต้รัฐบาลพลเรือนเป็นไปได้ยากมากยิ่งขึ้น เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้ได้เข้ามาแทรกซึมอยู่ภายในหน่วยงานต่าง ๆ และยังคงคอยให้การสนับสนุนการมีอยู่ของกองทัพขนาดใหญ่ จึงสมควรเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการลดบทบาททางการเมืองของนายทหารระดับสูงชั้นนายพล โดยการออกกฎหมายห้ามดำรงตำแหน่งในทุกหน่วยงานหรือองค์กรไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชนภายหลังจากเกษียณอายุราชการไปแล้วทุกกรณี
Article Details
References
ทวี แจ่มจรัส. (2562). การเป็นทหารอาชีพของไทยกับพฤติกรรมประชาธิปไตยของทหาร. สืบค้นวันที่ 15 มกราคม 2563, จาก https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_1733824
ทวี แจ่มจรัส และคณะ. (2562). บทบาทของนายทหารบกระดับกลางที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงการเมืองไทย. วารสารสมาคมนักวิจัย, 23(2).
ทวีศักดิ์ เกิดโภคา. (2561). อาจารย์โรงเรียนนายร้อยเสนอปรับหลักสูตรเน้นการสอนทหารใหม่ให้คิดเป็น วางรากฐานประชาธิปไตย. สืบค้นวันที่ 15 มกราคม 2563, จาก https://prachatai.com/journal/2018/09/78674
ไทยรัฐออนไลน์. (2557). ตรวจแถวทหาร-เช็กขุมกำลังปฏิวัติ!!!. 15 มกราคม 2563, จาก https://www.thairath.co.th/content/394160
ธวัชชัย ผลสะอาด. (2560). มาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับการเกณฑทหารและการจัดการกำลังสำรอง. วารสารวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร, 8(2).
พลอย ธรรมาภิรานนท์. (2560). พลเรือนควบคุมทหาร : หนทางสู่ประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพ. สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2563, จาก https://www.the101.world/civilian-control-of-the-military/
มติชนออนไลน์. (2562). ก.ห.ตั้งโต๊ะแถลง ความจำเป็นต้องมีเกณฑ์ทหาร วอนพรรคการเมือง อย่ายกเป็นนโยบาย. สืบค้นวันที่ 15 มกราคม 2563, จาก https://www.matichon.co.th/politics/news_1382520
รัฐสภา. (2560). รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560. กรุงเทพฯ: รัฐสภา.
ศิวัช ศรีโภคางกุล. (2560). กระบวนการสร้างประชาธิปไตยผ่านการปฏิรูปกองทัพและการสร้างความปรองดองใน ประเทศอินโดนีเซีย. วารสารการบริหารปกครอง, 6(1).
ศิวัช ศรีโภคางกุล และเทอดศักดิ์ ไป่จันทึก. (2560). การเกณฑ์ทหารกับการทรมาน และการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อทหารเกณฑ์ในประเทศไทย: บทวิเคราะห์จากมุมมองหนังสือรัฐศาสตร์ไม่ฆ่า. วารสารนิติสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 10(2).
ศุภณัฐ บุญสด. (2561). การควบคุมทหารโดยพลเรือนในระบบกฎหมายไทย. วารสารกฎหมายสงขลานครินทร์, 1(1).
สรศักดิ์ งามขจรกุลกิจ. (2561). การออกแบบระบบการศึกษาทางทหารของไทยใหม่เพื่อการผลิตทหารอาชีพและการปฏิรูปกองทัพ. วารสารวิชาการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า, 5(1).
สรศักดิ์ งามขจรกุลกิจ และชัญญาพัทธ์ วิพัฒนานันทกุล. (2559). ระบบการเรียนการสอนของโรงเรียนนายร้อยสหรัฐอเมริกากับปรัชญาและ “หัวใจ” ของการผลิตทหารอาชีพ, วารสารวิชาการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า, 3(1).
สุรชาติ บำรุงสุข. (2558). เสนาธิปไตย: รัฐประหารกับการเมืองไทย (พิมพ์ครั้งแรก). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน.
_______. (2561). จะปฏิรูปทหาร ต้องสร้างทหารอาชีพ จะสร้างทหารอาชีพ ต้องปฏิรูปทหาร. สืบค้นวันที่ 10 มกราคม 2563, จาก https://www.matichonweekly.com/column/article_118912
สำนักข่าวช่อง One 31. (2563). ‘บิ๊กตู่’ ชี้เกณฑ์ทหารเลื่อนกระทบกำลังพลอาจไม่พอ. สืบค้นวันที่ 20 มีนาคม 2563, จาก https://www.one31.net/news/detail/19626
BBC News Thai. (2562). อภิรัชต์ คงสมพงษ์: ชี้นักธุรกิจการเมือง นักวิชาการฝักใฝ่คอมฯ “คุกคามความมั่นคง”. สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2563, จาก https://www.bbc.com/thai/thailand-50009884
_______. (2563). สื่อญี่ปุ่นชี้ "นายพลไทย" ล้นกองทัพ ชาติอื่นใช้ "นายพัน" ทำหน้าที่เดียวกัน. สืบค้นเมื่อ 10 มกราคม 2563, จาก https://www.bbc.com/thai/thailand-50961210