ประชาธิปไตยและกลไกทางการเมืองในประเทศกัมพูชา
Main Article Content
บทคัดย่อ
บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับระบอบประชาธิปไตยในประเทศกัมพูชา ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ช่วงเวลาสำคัญ คือ ประชาธิปไตยยุคแรก หลังจากกัมพูชาได้รับอิสรภาพจากชาติอาณานิคม (ฝรั่งเศส) ด้วยความช่วยเหลือจากญี่ปุ่นให้กัมพูชาสามารถมีสิทธิ์ในการปกครองตนเองอย่างสมบูรณ์ และประชาธิปไตยยุคสองที่รวมถึงยุคปัจจุบัน ที่เป็นการขับเคลื่อนประเทศเพื่อฟื้นฟูบูรณะชาติที่ทรุดโทรมอันเป็นผลมาจากระบอบการปกครองเดิมที่ล้มเหลวให้ก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนาตามแบบประชาธิปไตยภายใต้การนำของสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีทุกสมัยของกัมพูชา นอกจากนี้ยังได้มีการวิเคราะห์ถึงกลไกขับเคลื่อนของรัฐบาลกัมพูชาที่ดูเหมือนว่ากำลังถูกใช้ในทิศทางที่สวนกลับจากแนวคิดเสรีประชาธิปไตยเพื่อรักษาฐานอำนาจทางการเมืองของตนเองและพวกพ้อง ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ กลไกประเภทที่ 1 การใช้แนวคิดครองอำนาจนำในการควบคุมสังคม ประกอบด้วย ภาพลักษณ์ของผู้นำ การใช้กระแสชาตินิยม การเมืองเครือญาติ กลไกประเภทที่ 2 ประกอบด้วย การใช้อิทธิพลทางการเมืองและกำลังทางทหารในการยึดกุมอำนาจการปกครอง การใช้ทรัพยากรของรัฐเพื่อประโยชน์ในการหาเสียง การครอบงำหน่วยงานราชการและองค์กรอิสระ การใช้อำนาจรัฐคุกคามประชาชน และการใช้อำนาจตุลาการและกฎหมายกำจัดคู่แข่ง อย่างไรก็ตามบทความชิ้นนี้เป็นเพียงการศึกษาเพื่อสร้างคำอธิบายและทำความเข้าใจต่อปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในกัมพูชาเกี่ยวกับการขับเคลื่อนประชาธิปไตยและการใช้กลไกทางการเมืองของรัฐบาลในการดำเนินงานเท่านั้น