การเปรียบเทียบประสิทธิภาพทางพลังงานของสนามแบดมินตันระหว่างรูปแบบดวงโคม High Bay เพียงอย่างเดียว และ รูปแบบดวงโคม High Bay ผสม LED T8 tube กรณีศึกษา: อาคาร 40 ปี มจพ. A Comparative Study on Energy Efficiency of Badminton Court Lighting between High-Bay Luminaires and High-Bay Combined with LED T8 Tubes Case study: 40 Year Building KMUTNB
Main Article Content
บทคัดย่อ
การเล่นกีฬาแบดมินตันให้มีประสิทธิภาพประกอบไปด้วยหลายปัจจัย แสงสว่างและดวงโคมเป็นหนึ่งในปัจจัยนั้น การเลือกใช้ดวงโคมและการกำหนดรูปแบบการติดตั้งส่งผลต่อประสิทธิแสงสว่าง ปัจจุบันอาคาร 40 ปี มจพ. มีสนามแบดมินตันสำหรับการเรียนการสอนเป็นหลัก จากการใช้สนามจริงพบว่าแสงสว่างภายในสนามแบดมินตันอาคารดังกล่าว ขณะเล่นมีอาการตาล้าและมีแสงจ้าตา ทำให้เล่นกีฬาได้ไม่เต็มที่ บทความนี้จึงนำเสนอการศึกษาการจำลองภาพเสมือนจริงภายในสนามแบดมินตัน อาคาร 40 ปี มจพ. มีวัตถุประสงค์เพื่อนำสนามแบดมินตันจำลองที่มีการปรับปรุงตำแหน่งดวงโคม มาศึกษาตำแหน่งการวางดวงโคมให้เป็นไปตาม BSI Standards อ้างถึงใน BS EN 12193:2018 Light and lighting-Sports lighting จากนั้นนำมาเปรียบเทียบประสิทธิภาพแสงสว่างและประสิทธิภาพทางพลังงานระหว่างกรณีที่ 1 รูปแบบการใช้โคม High Bay เพียงอย่างเดียว (HB) และกรณีที่ 2 รูปแบบการใช้โคม High Bay ผสม LED T8 tube (HB-T8) โดยทำการวิเคราะห์ค่าพลังงานของกำลังไฟฟ้าส่องสว่างสูงสุด (Lighting Power Density; LPD) ค่าความส่องสว่างโดยเฉลี่ย (Average Illuminance) ค่าความสม่ำเสมอของแสง (Uniformity) ค่าประเมินผลกระทบจากแสงจ้าของระบบไฟภายในอาคาร (Unified Glare Rating) จากการศึกษาและจำลองสนามแบดมินตันทั้งหมด 4 สนาม ด้วยโปรแกรม DIALux evo 13.0 เพื่อให้ประสิทธิภาพแสงสว่างเป็นไปตามมาตรฐานที่คลาส III สำหรับการแข่งขันระดับท้องถิ่นและกิจกรรมนันทนาการ เพียงพอกับสนามแบดมินตันในมหาวิทยาลัยที่ใช้ในการเรียนการสอนและการนันทนาการเป็นหลัก และนำผลที่ได้มาเปรียบเทียบประสิทธิภาพทางพลังงาน พบว่าค่าความส่องสว่างโดยเฉลี่ยของทั้ง 2 กรณี มีค่าใกล้เคียงกันซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานคลาส III และเมื่อนำมาเปรียบเทียบประสิทธิภาพทางพลังงานระหว่างกรณีที่ 1 (HB) และกรณีย่อย 2.2 (HB15.5-T8) พบว่ากรณีที่ 1 (HB) มีประสิทธิภาพทางพลังงานดีกว่า ทั้งในด้านกำลังไฟฟ้ารวมและค่ากำลังไฟฟ้าส่องสว่างสูงสุด (LPD) โดยสามารถประหยัดพลังงานได้มากกว่ากรณีย่อย 2.2 (HB15.5-T8) ประมาณ 14%
Article Details

This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นลิขสิทธิ์ของ คณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ