เกี่ยวกับวารสาร
วารสารชัยพฤกษ์ภิรมย์ Jayaphruekpirom ISSN 2985-217X (Online) ตีพิมพ์เผยแพร่มาอย่างต่อเนื่องจากวารสารวิชาการคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๖๒ ซึ่งบทความทุกเรื่องจะได้รับการประเมินจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านสาขานั้นหรือสาขาที่เกี่ยวข้อง จากทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาอย่างน้อย ๓ คน โดยมีรูปแบบการกลั่นกรองบทความก่อนตีพิมพ์ (Peer review) ซึ่งผู้พิจารณาไม่ทราบชื่อผู้แต่ง และผู้แต่งไม่ทราบชื่อผู้พิจารณา (Double-blind peer review)
วารสารชัยพฤกษ์ภิรมย์ มีค่าธรรมเนียมการตีพิมพ์เผยแพร่บทความเฉพาะแบบปกติ ไม่มีค่าธรรมเนียมการตีพิมพ์แบบเร่งด่วน (Fast Track) โดยวารสารชัยพฤกษ์ภิรมย์ จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการตีพิมพ์ หลังจาก accepted บทความ (บทความได้รับการตรวจสอบจากผู้ทรงคุณวุฒิประจำวารสารฯ จำนวน ๓ คน และผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง ๓ คน มีความเห็นเป็นเอกฉันท์/ส่วนใหญ่ ยอมรับการตีพิมพ์บทความแล้วเท่านั้น) ซึ่งผู้เขียนบทความกรุณาชำระค่าธรรมเนียมการตีพิมพ์ หลังจากได้รับการแจ้งการชำระเงินจากกองบรรณาธิการวารสารชัยพฤกษ์ภิรมย์ แล้วเท่านั้น ทั้งนี้กองบรรณาธิการชัยพฤกษ์ภิรมย์ จะดำเนินการออกใบเสร็จรับเงินให้แก่ผู้เขียนบทความ
การชำระค่าธรรมเนียมในการตีพิมพ์บทความ เป็นค่าดำเนินการของวารสารชัยพฤกษ์ภิรมย์ ซึ่งหากวารสารชัยพฤกษ์ภิรมย์ accepted บทความ (ยอมรับการตีพิมพ์บทความแล้ว) และผู้เขียนได้โอนเงินชำระค่าธรรมเนียมการตีพิมพ์มายังวารสารชัยพฤกษ์ภิรมย์แล้ว หากภายหลังผู้เขียนบทความมีความประสงค์ขอถอนบทความจากการตีพิมพ์ลงในวารสารชัยพฤกษ์ภิรมย์ ทางกองบรรณาธิการวารสารชัยพฤกษ์ภิรมย์ขอสงวนสิทธิ์ไม่คืนเงินค่าตีพิมพ์บทความดังกล่าวทุกกรณี
วารสารชัยพฤกษ์ภิรมย์ จะเริ่มเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการตีพิมพ์บทความ (สำหรับต้นฉบับบทความที่ผ่านการตรวจสอบความถูกต้องของรูปแบบการพิมพ์เบื้องต้นจากกองบรรณาธิการ ตั้งแต่วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๖๘ เป็นต้นไป) โดยมีรายละเอียดค่าธรรมเนียมการตีพิมพ์ดังนี้
- บทความของนักศึกษา เจ้าหน้าที่ และอาจารย์ ที่กำลังศึกษา/ปฏิบัติงาน ในมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา บทความละ ๓,๐๐๐ บาท (สามพันบาทถ้วน)
- บทความของนักศึกษา อาจารย์ เจ้าหน้าที่ และบุคคลทั่วไป ที่ไม่ได้กำลังศึกษา/ปฏิบัติงาน ในมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา บทความละ ๔,๐๐๐ บาท (สี่พันบาทถ้วน)
โดยตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๖๘ เป็นต้นไป วารสารชัยพฤกษ์ภิรมย์ มีกำหนดเผยแพร่ปีละ ๓ ฉบับ ได้แก่
ฉบับที่ ๑ ประจำเดือน มกราคม–เมษายน
ฉบับที่ ๒ ประจำเดือน พฤษภาคม-สิงหาคม
ฉบับที่ ๓ ประจำเดือน กันยายน-ธันวาคม มีวัตถุประสงค์การเผยแพร่ ดังนี้
๑. เพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิชาการทางด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ซึ่งมีขอบเขตสาขาวิชาทางด้านสังคมศาสตร์ทั่วไป (General Social Sciences) ศิลปะทั่วไปและมนุษยศาสตร์ (General Arts and Humanities) รัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ (Political Science and Public Administration) ภาษาและวรรณกรรม (Language and Literature) และการศึกษา (Education) และหรือที่เกี่ยวข้องกับมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
๒. เพื่อเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์สำหรับคณาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ นักศึกษา และนักวิชาการ ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย
๓. เพื่อพัฒนาและส่งเสริมให้เกิดผลงานทางวิชาการอย่างต่อเนื่อง และสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานได้จริงอันก่อเกิดประโยชน์แก่สังคมโดยรวม
บทความมีองค์ประกอบและการเรียงลำดับหัวข้อในบทความ ดังนี้
1. ชื่อเรื่อง (Title) ต้องมีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ชื่อเรื่องภาษาอังกฤษตัวพิมพ์ใหญ่และหนาทั้งหมด โดยชื่อเรื่องภาษาไทยใช้ตัวอักษรพิมพ์หนาขนาด 18 point ส่วนชื่อเรื่องภาษาอังกฤษใช้ตัวอักษรพิมพ์ใหญ่และหนาขนาด 16 point ควรตั้งชื่อให้กระชับและตรงกับสิ่งที่ต้องการวิจัย ชื่อภาษาไทยและภาษาอังกฤษควรตรงกัน
2.ชื่อผู้เขียน (Author) มีรายละเอียดดังนี้
2.1 ระบุชื่อภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยพิมพ์เฉพาะชื่อ-นามสกุลเท่านั้น ชื่อผู้เขียนภาษาไทยใช้ตัวอักษรพิมพ์หนาขนาด 16-point ส่วนชื่อผู้เขียนภาษาอังกฤษใช้ตัวอักษรพิมพ์ใหญ่และหนาขนาด 14-point
2.2 ระบุชื่อหน่วยงาน โดยระบุรายละเอียดของผู้เขียนแต่ละคน ประกอบด้วยหน่วยงานที่สังกัดและจังหวัด ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยชื่อหน่วยงานและจังหวัดภาษาไทยใช้ตัวอักษรพิมพ์หนาขนาด 14-point ส่วนชื่อหน่วยงานและจังหวัดภาษาอังกฤษใช้ตัวอักษรพิมพ์ใหญ่และหนาขนาด 12-point
3. บทคัดย่อ (Abstract) มีรายละเอียดดังนี้
3.1 บทความต้องนำเสนอบทคัดย่อภาษาไทยและตามด้วยภาษาอังกฤษ กำหนดให้มีจำนวนคำระหว่าง 200-300 คำ โดยเรียงลำดับการเขียนบทคัดย่อตามความสำคัญ ประกอบด้วยวัตถุประสงค์ วิธีดำเนินการวิจัย และผลการวิจัย
3.2 คำว่า “บทคัดย่อ” ใช้ตัวอักษรพิมพ์หนาขนาด 16-point ชิดขอบด้านซ้าย
3.3 คำว่า ABSTRACT ใช้ตัวอักษรพิมพ์ใหญ่และหนาขนาด 16-point ชิดขอบด้านซ้าย
3.4 รายละเอียดเนื้อหาในบทคัดย่อทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ใช้ตัวอักษรพิมพ์ปกติขนาด 14 point
4. คำสำคัญ (Keywords) มีรายละเอียดดังนี้
4.1 ระบุคำสำคัญที่มีความเกี่ยวข้องกับชื่อเรื่อง จำนวน 3-5 คำ ใช้ตัวอักษรพิมพ์ปกติขนาด 14-point
4.2 คำว่า “คำสำคัญ” ใช้ตัวอักษรพิมพ์หนาขนาด 14-point ชิดขอบด้านซ้าย ตามด้วยเครื่องหมาย (:)หลังเครื่องหมาย (:) ให้เว้นวรรค 1 ส่วนระหว่างคำให้เว้นวรรค 2 วรรค
4.3 คำว่า “Keywords” ใช้ตัวอักษรพิมพ์หนาขนาด 14-point ชิดขอบด้านซ้าย ตามด้วยเครื่องหมาย (:) หลังเครื่องหมาย (:) ให้เว้นวรรค 1 ส่วนระหว่างคำใช้เครื่องหมายจุลภาค (,) คั่น หลังเครื่องหมายจุลภาคให้เว้นวรรค 1 วรรค
5. เนื้อหา (Text) หัวข้อใหญ่ใช้ตัวอักษรพิมพ์หนา TH SarabunPSK 16-point ส่วนรายละเอียดของเนื้อหาใช้ตัวอักษรพิมพ์ปกติ TH SarabunPSK 14-point ส่วนประกอบการเขียนแบ่งออกเป็น 3 แบบ ดังนี้
5.1 บทความวิจัย มีส่วนประกอบดังนี้
5.1.1 บทนำ การระบุถึงความเป็นมาและความสำคัญของงานวิจัยที่ผู้เขียนต้องการแก้ไขหรือพัฒนา สิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะศึกษา ขอบเขตของการวิจัย ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ รวมทั้งผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
5.1.2 วัตถุประสงค์การวิจัย การกำหนดแนวทางให้ผู้เขียนว่าต้องการจะศึกษาอะไรบ้าง โดยควรระบุเป็นข้อเพื่อความสะดวกในการวิเคราะห์ข้อมูล
5.1.3 สมมุติฐานการวิจัย (ถ้ามี) ข้อคิดเห็นที่ผู้เขียนตั้งขึ้นมาเพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการทำวิจัย โดยการระบุผลที่ผู้เขียนกำหนดก่อนการวิเคราะห์ข้อมูล
5.1.4 กรอบแนวคิดในการวิจัย ข้อมูลเกี่ยวกับแนวคิดและทฤษฏี การนิยาม หลักการที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย จากนั้นจึงกำหนดเป็นกรอบแนวคิด
5.1.5 วิธีดำเนินการวิจัย ข้อมูลที่ผู้เขียนจำเป็นต้องเก็บรวบรวม การกำหนดเครื่องมือและวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลที่เหมาะสม ประกอบด้วยประชากรและกลุ่มตัวอย่าง เครื่องมือที่ใช้การวิจัย การเก็บรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล และสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์
5.1.6 ผลการวิจัย ผู้เขียนควรรายงานผลการวิจัยตามวัตถุประสงค์ สามารถเสนอผลการวิเคราะห์โดยใช้ตาราง แผนภูมิ รูปภาพ กราฟหรืออื่น ๆ ได้ตามความเหมาะสม หากมีตารางควรระบุตารางที่ ใช้อักษรหนาชิดขอบด้านซ้าย ส่วนภาพประกอบควรเป็นภาพชัดเจนและใช้เฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น โดยระบุภาพที่ และที่มาของภาพ
5.1.7 อภิปรายผล ผู้เขียนนำผลการวิเคราะห์มากล่าวและแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม พร้อมทั้งระบุให้เห็นว่าผลการวิจัยมีความสัมพันธ์ สอดคล้องหรือไม่สอดคล้องกับแนวคิด ทฤษฏี หลักการ หรืองานวิจัยใดบ้าง
5.1.8 ข้อเสนอแนะ ผู้เขียนควรระบุข้อเสนอแนะจากการวิจัยในครั้งนี้ และข้อเสนอแนะสำหรับการวิจัยในครั้งต่อไป โดยการเสนอแนะถึงการนำผลที่ได้จากการวิจัยไปใช้แก้ไขปัญหาอย่างไร เสนอแนะเพื่อวิจัยในอนาคต ปัญหาอุปสรรคและแนวทางแก้ไขที่ประสบจากงานวิจัย และเสนอแนะให้มีการวิจัยเกี่ยวกับปัญหานี้ในด้านอื่น ๆ เพิ่มเติม ประเด็นใดที่มีความสำคัญควรทำวิจัยต่อไปในอนาคต
5.1.9 กิตติกรรมประกาศ (ถ้ามี) ต้องระบุชื่อทุน หรือแหล่งทุนหรือผู้ให้การสนับสนุนที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย
5.1.10 เอกสารอ้างอิง ใช้การอ้างอิงตามรูปแบบ APA แบบระบบนาม-ปี การอ้างอิงในเนื้อหาให้ระบุชื่อผู้แต่งและปีพิมพ์ไว้ข้างหน้าหรือท้ายข้อความที่ต้องการอ้าง ส่วนการอ้างอิงท้ายบทความผู้เขียนจะต้องรวบรวมเอกสารทั้งหมดที่อ้างอิงและจัดเรียงตามตัวอักษรชื่อผู้แต่ง
5.2 บทความวิชาการ มีส่วนประกอบดังนี้
5.2.1 บทนำ การระบุถึงหลักการและเหตุผล วัตถุประสงค์ ขอบเขต คำนิยามศัพท์ที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอเพื่อนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้
5.2.2 เนื้อหา การรวบรวมข้อมูลที่ได้มาจากแนวคิดหรือทฤษฎีแล้วนำมาสังเคราะห์ข้อมูลใหม่
5.2.3 สรุป การระบุประโยชน์ที่สามารถนำไปใช้ได้ในทางวิชาการ
5.2.4 เอกสารอ้างอิง ใช้การอ้างอิงตามรูปแบบ APA แบบระบบนาม-ปี การอ้างอิงในเนื้อหาให้ระบุชื่อผู้แต่งและปีพิมพ์ไว้ข้างหน้าหรือท้ายข้อความที่ต้องการอ้าง ส่วนการอ้างอิงท้ายบทความผู้เขียนจะต้องรวบรวมเอกสารทั้งหมดที่อ้างอิงและจัดเรียงตามตัวอักษรชื่อผู้แต่ง
5.3 บทความวิจารณ์ มีส่วนประกอบดังนี้
5.3.1 ภาพปกหนังสือ ปกหนังสือที่จะนำมาวิจารณ์
5.3.2 ข้อมูลทางบรรณานุกรมของหนังสือ การระบุเนื้อหาควรเขียนให้ชัดเจนเกี่ยวกับชื่อหนังสือ ชื่อผู้เขียนหนังสือ จัดพิมพ์โดย จำนวนหน้า ปีที่พิมพ์ และเลข ISBN
5.3.3 บทนำ ความเป็นมาความสำคัญของหนังสือและผู้แต่ง ประโยชน์และคุณค่าทางวิชาการ
5.3.4 เนื้อหา การวิจารณ์หนังสือตั้งแต่รูปแบบ เนื้อหา และคุณค่าทางสังคม
5.3.5 ข้อเสนอแนะ การแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน
5.3.6 เอกสารอ้างอิง ใช้การอ้างอิงตามรูปแบบ APA แบบระบบนาม-ปี การอ้างอิงในเนื้อหาให้ระบุชื่อผู้แต่งและปีพิมพ์ไว้ข้างหน้าหรือท้ายข้อความที่ต้องการอ้าง ส่วนการอ้างอิงท้ายบทความผู้เขียนจะต้องรวบรวมเอกสารทั้งหมดที่อ้างอิงและจัดเรียงตามตัวอักษรชื่อผู้แต่ง
6. ผู้เขียนบทความ ระบุชื่อผู้เขียนทุกคน ประกอบด้วยชื่อ นามสกุล ตำแหน่ง ชื่อหน่วยงาน สาขา คณะ มหาวิทยาลัย จังหวัด และอีเมล กรณีเป็นนักศึกษาให้ระบุตำแหน่งเป็นนักศึกษา หลักสูตร คณะ มหาวิทยาลัย จังหวัด และอีเมล