แนวทางการบริหารแบบมีส่วนร่วมของผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดกาฬสินธุ์
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาแนวทางการบริหารแบบมีส่วนร่วมของผู้บริหารสถานศึกษา (2) เปรียบเทียบความคิดเห็นของบุคลากรที่มีต่อการบริหารแบบมีส่วนร่วมของผู้บริหารสถานศึกษา จำแนกตามวุฒิการศึกษา ตำแหน่ง ประสบการณ์การทำงาน และ (3) ศึกษาข้อเสนอแนะแนวทางการบริหารแบบมีส่วนร่วมของผู้บริหารสถานศึกษา กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 214 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถาม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติทดสอบค่าที (t-test) และสถิติการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว F-test (One-Way ANOVA) ผลการวิจัยพบว่า การบริหารแบบมีส่วนร่วมของผู้บริหารสถานศึกษา โดยรวมอยู่ในระดับมาก ผลการเปรียบเทียบการบริหารแบบมีส่วนร่วมของผู้บริหารสถานศึกษา จำแนกตามวุฒิการศึกษา โดยรวมและรายด้าน ไม่แตกต่างกัน ส่วนจำแนกตามตำแหน่งหน้าที่ ประสบการณ์ในการทำงาน โดยรวมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ส่วนข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการบริหารแบบมีส่วนร่วมของผู้บริหารสถานศึกษา พบว่า (1) ด้านการกระจายอำนาจและการให้อำนาจในการตัดสินใจ สถานศึกษาควรจัดประชุมเพื่อแนวทางแก้ปัญหาโดยนำปัญหาที่เกิดขึ้นในองค์กรมาวางแผน ร่วมกันตัดสินใจเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด (2) ด้านความไว้วางใจกัน ผู้บริหารสถานศึกษาควรให้ความไว้วางใจในการตัดสินใจของผู้ใต้บังคับบัญชา (3) ด้านการร่วมกำหนดวัตถุประสงค์เป้าหมายและร่วมรับผิดชอบดำเนินการ บุคลากรควรมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและข้อตกลงในการทำงานร่วมกัน (4) ด้านมีความเป็นอิสระที่จะรับผิดชอบและสามารถดูแลตนเองได้ ผู้บริหารสถานศึกษาควรให้ความเป็นอิสระในการคิด การตัดสินใจ และการดำเนินงานที่ตนรับผิดชอบ (5) ด้านความผูกผันต่อกันและรู้สึกเป็นเจ้าของหน่วยงานร่วมกัน ผู้บริหารสถานศึกษาควรสร้างบรรยากาศในการปฏิบัติงานแบบกัลยาณมิตร (6) ด้านการให้ข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนและทันสมัยต่อทุกคนที่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ผู้บริหารสถานศึกษาควรให้ข้อมูลข่าวสารกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจอย่างถูกต้อง
Article Details
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
References
กมลชนก ศรีวรรณา. (2561). การบริหารแบบมีส่วนร่วมที่ส่งผลต่อการทำงานเป็นทีมในโรงเรียน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครพนม เขต 2. (ครุศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร).
กระทรวงศึกษาธิการ. (2563). แผนยุทธศาสตร์กระทรวงศึกษาธิการ (พ.ศ. 2563 – 2565). กรุงเทพฯ: สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงศึกษาธิการ.
นันทกิตติ แก้วกล้า. (2553). การบริหารแบบมีส่วนร่วม. กรุงเทพฯ: บรรณกิจ.
วิศรุต เพ็ชรสีม่วง. (2564). การบริหารแบบมีส่วนร่วมของผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสานักงาน เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยภูมิ เขต 2. (ครุศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ).
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. (2560). หลักสูตรแกนกลางการศึกษา พุทธศักราช 2551. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด.
สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย. (2564). ประกาศสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เรื่อง นโยบายและจุดเน้นการดำเนินงาน สำนักงาน กศน. สืบค้น 27 กันยายน 2566. จาก https://moe360.blog/2022/06/16/policy-and-operational-focus-nfe/.
สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. (2561). ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561–2580). สืบค้น 27 กันยายน 2566. จาก https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/A/082/T_0001.PDF.
Krejcie, R.V., & D.W. Morgan. (1970). Determining sample size for research activities. Educational and Psychological Measurement, 30(3), 607-610.